✅ โดยปกติ ในห้วงเดือนพฤษภาคม กรมข่าวทหารบก จะทำการประกาศเพื่อรับสมัคร บุคคลที่ประสงค์เข้ารับการ สอบ คัดเลือกเพื่อไปทำหน้าที่ ผู้ช่วยทูตฝ่ายทหารบกไทย ในต่างประเทศ ซึ่งจัดให้มีขึ้นทุกปี แต่จะเปิดสอบประเทศใดนั้น ก็ขึ้นอยู่กับห้วงการหมดวาระของผู้ที่ดำรงตำแหน่งอยู่เดิม สำหรับในปีนี้ เห็นมีการประกาศรับสมัครกันแล้ว ซึ่งรายละเอียดก็ลองไปติดตามทางหน้าเว็บไซต์หรือเฟสบุคของ กรมข่าวทหารบก กันดู
เกริ่นนำ
🧐 เนื่องจากส่วนตัวผู้เขียนเอง เคยมีประสบการณ์ในการเข้ารับการสอบ ผชท.มากถึง 3 รอบด้วยกัน กว่าจะได้ก็เจ็บมาเยอะว่างั้นเถอะ. จึงมีพี่ ๆน้อง ๆ บางท่านมาขอคำแนะนำ ขอให้ช่วยชี้แนะแนวทางว่า จะต้องเตรียมตัวอย่างไร, ขั้นตอนการสอบมีอะไรบ้าง, ยากมั้ย, ไม่ได้จบนอก มาสอบได้ป่าว และอีกหลาย ๆคำถามจำนวนมาก เอาจริงก็อยากจะบอกว่า มันก็ไม่ได้มีสูตรสำเร็จตายตัว ที่จะทำให้ประสบความสำเร็จ เพราะสุดท้ายแล้วความสำเร็จมักจะขึ้นอยู่กับความพร้อมในตัวบุคคล และความเหมาะสมในห้วงเวลานั้น. ดังคำกล่าวที่ว่า โชค = ความพร้อม + โอกาส จริงอยู่ว่า โอกาส เราอาจต้องคอยไม่รู้ว่ามันจะมาถึงเร็วหรือช้า แต่เมื่อโอกาสมาถึงเมื่อไหร่ แล้วตัวเรามีความพร้อม มันก็มีเปอร์เซนต์สูงที่จะคว้าโอกาสนั้นมาได้จริงป่ะ
📝 ดังนั้นโพสนี้จึงเขียนขึ้นมาเพื่อช่วยเหลือมือใหม่ ที่ไม่เคยลงสนามสอบมาก่อน ให้พอเข้าใจภาพการสอบว่าเป็นอย่างไร แต่ละขั้นตอนมีการเตรียมตัวอย่างไร รวมถึงจะมาแชร์ ทิป และเทคนิค บางอย่าง ที่สามารถนำไปประยุกต์ให้เข้ากับตัวผู้สอบเองได้ นอกจากนั้น สำหรับคนที่ยังไม่ได้คิดที่จะเปลี่ยนแนวทางมาสายนี้ ลองเข้ามาอ่านดู เผื่อจะได้เกิดแรงบันดาลใจ และอยากจะเข้ามาลองสนามสอบซักตั้ง ดีกว่าปล่อยโอกาสให้กับคนอื่นจริงมั้ย สำหรับมือใหม่ที่ไม่เคยมีประสบการณ์การสอบมาก่อน และอยากจะรู้ว่าจะต้องเตรียมตัวอย่างไร ก็ลองนำแนวทางต่อไปนี้ไปประยุกต์ใช้ดู แต่ต้องขอออกตัวก่อนนะว่า ระเบียบการสอบมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงบ่อย แนวทางที่ให้ไว้นี้เป็นเพียงแนวทางหนึ่ง ที่อ้างอิงจากประสบการณ์สอบของตัวเอง เมื่อปี 65 และระเบียบกองทัพบก ว่าด้วยการสอบคัดเลือกผู้ช่วยทูตฝ่านทหารบกปี 66 ดังนัั้นเพื่อความชัวร์ ท่านควรต้องเช็คความถูกต้อง จาก กองการทูต ขว.ทบ.ด้วยเสมอ เอาล่ะเริ่มกันเลย..
ก่อนจะไป สอบ ควรรู้อะไรบ้าง
ท่านสามารถคลิ๊กข้ามไปยังหัวข้อที่สนใจ หรืออ่านไปเรื่อย ๆเพลิน ๆตามสะดวก
- เลือกสอบประเทศไหนดีนะ ?
- ผมมีสิทธิสมัครสอบได้มั้ย
- การสอบรอบแรก ภาษาอังกฤษ และ ภาษาท้องถิ่น
- การสอบรอบที่สอง โดย กรมข่าวทหารบก
- การสอบรอบตัดสิน
เลือก สอบ ประเทศไหนดีนะ ?
ใช่แล้ว.. การสอบผู้ช่วยทูตของกองทัพบกนั้น เปิดโอกาสให้ผูัสมัครสามารถเลือกประเทศที่ประสงค์จะไปทำหน้าที่ได้เอง แตกต่างจากของกองทัพเรือ หรือกองทัพอากาศ ที่ใช้การสอบคัดเลือกเหมือนกัน แต่ไม่สามารถเลือกประเทศได้เอง ดังนั้นเมื่อเรามีโอกาสที่จะเลือกประเทศได้เองแล้ว การเลือกอย่างฉลาดและเหมาะสม ก็จะทำให้ท่านมีโอกาสมากขึ้นในการสอบไดัเช่นกัน
ก่อนอื่นเรามาดูกันซิว่า เรามีตัวเลือกอะไรบ้าง กองทัพบกมีสำนักงานผู้ช่วยทูตฝ่ายทหารบกทั่วโลกจำนวน 17 แห่ง ในที่นี้จะแบ่งกลุ่มออกเป็น 3 กลุ่มตามห้วงวาระการดำรงตำแหน่ง และก่อนการพ้นหน้าที่ประมาณ 1 ปีครึ่ง(ราวๆเดือน พฤษภาคม ของทุกปี) กรมข่าวทหารบกก็จะจัดสอบเรียงตามลำดับกับกันไป ถ้าเราใช้ปี 66 เป็นตัวตั้ง ก็จะมีกลุ่มประเทศดังนี้
กลุ่มประเทศ โซนตะวันออก (อันนี้เรียกเอง) มี 4 ประเทศ
- เกาหลีใต้ 🇰🇷
- รัสเซีย 🇷🇺
- ออสเตรเลีย 🇦🇺
- มาเลเซีย 🇲🇾
กลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน มี 6 ประเทศ
- พม่า 🇲🇲
- ลาว 🇱🇦
- กัมพูชา 🇰🇭
- เวียดนาม 🇻🇳
- ปากีสถาน 🇵🇰
- ฝรั่งเศส 🇫🇷
กลุ่มประเทศ โซนตะวันตก 7 ประเทศ
- สหรัฐอเมริกา 🇺🇸
- อังกฤษ 🇬🇧
- เยอรมัน 🇩🇪
- จีน 🇨🇳
- ญี่ปุ่น 🇯🇵
- สิงคโปร์ 🇸🇬
- อินโดนีเซีย 🇮🇩
จะเห็นว่ามีบางประเทศก็ไม่เข้าพวกในกลุ่ม ก็เนื่องจากในบางปีมีบางประเทศมีเหตุให้ต้องพ้นวาระก่อนกำหนด จึงทำให้เลื่อนการสอบไวขึ้นมารวมกับอีกกลุ่ม ดังนั้นใครเล็งไว้ว่าจะสอบประเทศใดอยู่ อาจต้องติดตามความเปลี่ยนแปลงเสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประเทศจีน ซึ่งในระเบียบเดิม เป็นประเทศเดียวที่ต้องเตรียมตัวล่วงหน้าถึง 3 ปี (ประเทศอื่นปีเดียว) แต่ในระเบียบปี 66 ลดเวลาลงเหลือ 2 ปีนั่นก็ทำให้ การสอบไปประเทศจีน ก็จะไม่ตรงกับกลุ่มประเทศโซนตะวันตกแล้ว ส่วนครั้งต่อไปจะสอบปีไหนยังไง ใครจะสอบไปจีนก็ลองไปนับกันดู หรือไปเช็คกับกองการทูตดูก่อนนะ #หัวจะปวด 😵💫
แล้วจะเลือกประเทศไหนดีล่ะ?? แต่ละประเทศก็จะมีคุณลักษณะงานที่ทั้งเหมือน และต่างกันอยู่พอสมควร ยกตัวอย่างเช่น บางประเทศจะต้องทำหน้าที่ ผู้ช่วยทูตฝ่ายทหาร Defence Attaché ซึ่งรับงานจากกองบัญชาการกองทัพไทย อีกตำแหน่งหนึ่ง ได้แก่ สหรัฐอเมริกา, ฝรั่งเศส, จีน, ปากีสถาน, เกาหลีใต้, พม่า, ลาว และกัมพูชา (ส่วนที่เหลือก็ต้องทำหน้าที่ รอง DA ไปด้วย) และก็มีบางประเทศที่จะต้องไปทำหน้าที่มากกว่า 1 ประเทศอีก รายละเอียดจำไม่ได้แล้ว ถ้าใครอยากทราบก็เช่นเคย ไปตรวจสอบกับกองการทูตเอานะ
สำหรับบางประเทศที่อยู่ในสถานการณ์สู้รบ ผู้ช่วยทูตที่ทำหน้าที่ในประเทศนั้น ๆ ก็จะมีโอกาสขอรับเงินเพิ่มพิเศษการสู้รบ (พสร.)ในห้วงเวลา 3 ปี( 5 ขั้น) เพราะความเสี่ยงอันตรายนั่นเอง ณ ปัจจุบันก็มี 2 ประเทศที่ได้รับคือ เกาหลีใต้ และปากีสถาน
ในกลุ่มประเทศที่มีชายแดนติดกับประเทศไทย จะเป็นกลุ่มประเทศที่กองทัพบกให้ความสำคัญมากที่สุด และได้มอบโอกาสกับผู้ที่ปฏิบัติงานในพื้นที่ ในส่วนของหน่วยขึ้นตรงกองทัพภาคหรือ หน่วยรบพิเศษที่ทำงานในพื้นที่ได้สอบก่อน ทำให้จำกัดวงของผู้ท้าชิง อีกทั้งยังเปิดโอกาสให้ผู้ที่ต่อคิวเตรียมเป็น ผบ.หน่วยกำลังรบ แล้วกังวลว่าถ้ามาสอบเป็นผู้ช่วยทูตแล้วจะหลุดไลน์ ไม่ได้ก้าวหน้าในส่วนกำลังรบ ได้มีโอกาสกลับเข้าสู่ตำแหน่งหลักได้ ในระเบียบใหม่ได้เอื้อประโยชน์ให้ทำได้ ส่วนในทางปฎิบัติจริง คงต้องรอลุ้นติดตามดูพี่ ๆที่กำลังจะพ้นหน้าที่กลับมาจะได้ลงกันในตำแหน่งหลักกันมากน้อยแค่ไหน
ถัดจากประเทศที่มีชายแดนติดกับไทย ก็จะเป็นกลุ่มประเทศอาเซียน ที่กองทัพบกให้ความสำคัญเนื่องจากจะมีความร่วมมือทางทหาร การฝึกศึกษากันบ่อยกว่าทางประเทศที่ห่างไกลออกไป แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น การได้ไปทำงานในต่างประเทศ ไม่ว่าที่ใดก็ตาม ผู้ที่เคยผ่านการทำหน้าที่มาก่อน ก็จะพูดไปในทางเดียวกันว่า การเป็นผู้ช่วยทูตนั้นจะทำให้ได้รับประสบการณ์ที่ดีทั้งในส่วนของตัวเองและครอบครัวแน่นอน
💁🏻♂️ การเลือกประเทศสอบที่จะทำให้มีโอกาสได้สูง นอกจากการเลือกจากประเทศที่ชอบ เราควรเลือกประเทศที่จะสอบแบบมียุทธศาสตร์ร่วมด้วย เนื่องจากโดยทั่วไปแล้วการพิจารณาให้ทำบุคคลมาหน้าที่ในตำแหน่งหลักในกองทัพบกนั้น เป็นเรื่องของผู้บังคับบัญชาในสายงานของตนเป็นผู้พิจารณาความเหมาะสมแทบทั้งสิ้น แต่ในตำแหน่งผู้ช่วยทูตฯ เปิดโอกาสให้มีการสอบ ที่เปรียบเสมือนเวทีให้แต่ละคนมาแสดงความสามารถให้ผู้บังคับบัญชาเห็นว่าตนเองเป็นตัวเลือกที่เหมาะสมที่สุดในเวลาที่มีการพิจารณา ดังนั้นเราจะถูกพิจารณาร่วมกับคนที่สอบในประเทศเดียวกันกับเราเท่านั้น ควรหาข่าวก่อนว่ามีใครเลือกสอบประเทศไหนบ้างเป็นสิ่งสำคัญ บางปีคนแย่งไปลงสอบที่เดียวกันจำนวนมากในขณะที่อีกประเทศไม่มีคู่แข่งสำคัญเลย หรือบางปีมีคนผ่านการสอบภาคภาษาอังกฤษแค่คนเดียว ทำให้ไม่ต้องกังวลในการสอบรอบอื่น ๆก็เคยมี
สำหรับผู้ที่มาสอบถ้าเป็นกลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน ก็จะแข่งขันกันเฉพาะกองทัพภาค หรือหน่วยรบพิเศษ แต่ถ้ากลุ่มประเทศอื่น ๆที่เปิดสอบแบบโอเพน กลุ่มที่นิยมมาสอบ อาทิเช่น กลุ่มอดีตนักเรียนนายร้อยต่างประเทศ, กลุ่มอาจารย์ รร.เสธ.,กลุ่มผู้ที่มีความรู้ในภาษาที่ 3, กลุ่มผู้ที่ทำงานในสำนักงานผู้บังคับบัญชา, กลุ่มฝสธ. ประจำกรมฝ่ายเสธ. โดยเฉพาะ ขว.ทบ. ที่เหมือนเป็นแนวทางรับราชการเลย หรือบางที่ก็มีมาแบบเดี่ยว ๆแล้วสอบครั้งแรกได้เฉย ก็มีปรากฎแล้วเช่นกัน ดังนั้นเราต้องลองประเมินว่าถ้าเราพอมีคุณลักษณะพอสูสีกับคนที่มาสมัครในประเทศเดียวกันก็มีโอกาสได้ลุ้น แต่ควรต้องทำใจก่อนนะว่า คนที่ได้คะแนนสูงสุดในการสอบ อาจไม่ใช่คนที่เหมาะสมที่สุดในห้วงเวลานั้น ๆ เพราะผู้บังคับบัญชาจะเป็นผู้ชี้ขาด ดังนั้นถ้าสอบครั้งแรก ยังไม่สำเร็จก็ไม่เป็นไร ยังมีโอกาสให้สอบใหม่ได้เรื่อย ๆ ไปจนกว่าอายุจะเกิน 50 ปี คิดซะว่า ชีวิตย่อมมีหวังเสมอ😇
ผมมีสิทธิสมัคร สอบ ได้มั้ย?
เอาจริงนะ ระเบียบค่อนข้างเปิดกว้างและยุติธรรมมากขึ้น เช่น คนที่อยู่หน่วยรบ ลาดตระเวนชายแดนไล่จับผู้ขนยาเสพติด มาก่อน คนกลุ่มนี้ก็ไม่ต้องกังวลว่าต้องแข่งภาษากับนักเรียนนอก หรือวิชาการกับอาจารย์โรงเรียน เสธ. ก็จะแข่งขันกันเองในกลุ่มของตนซึ่งก็แฟร์ดี และโอกาสกลับมาไลน์ผู้บังคับหน่วยก็ยังมี อันนี้เริ่มคล้ายทหารเรือ ทหารอากาศบ้างแล้วไม่แน่ว่า ในอนาคตเราอาจจะได้เห็น แม่ทัพภาคที่เคยผ่านการเป็นผู้ช่วยทูตมาก่อน บ้างก็ได้
🙋🏻♂️ ถ้าท่านไม่ได้เป็นนักเรียนนายร้อยหลักก็สามารถสอบได้ เพราะระเบียบไม่ได้กำหนดไว้ ขอแค่จบโรงเรียนเสนาธิการทหารบกมาก็พอ และถ้ายังไม่ได้เรียนวิทยาลัยการทัพบกมาก่อนถ้าท่านสอบได้ ในช่วงเตรียมตัวก่อนเดินทางเค้าจะส่งให้ท่านเรียน วทบ.โดยอัตโนมัติเลย ก็มีนะที่ผู้ช่วยทูตทหาร ที่จบมาจากมหาวิทยาลัยไม่ได้จบ รร.นายร้อย เอาจริง กลุ่มหมอ นักบิน หรือแม้แต่อนุศาสน์ ก็เป็นได้นะ
🙆🏻♂️ เกณฑ์อายุเฉลี่ยของผู้ช่วยทูต ทบ. เมื่อเทียบกับ ทร.และ ทอ.แล้ว ทบ.มักจะเด็กสุดเพราะของ ทบ.พอได้ติดพันเอก น.4 ซักปีกว่า ๆก็มาสอบกันได้แล้วเพราะระเบียบให้นับอายุครบติดพันเอกพิเศษในวันเดินทางไปรับตำแหน่ง (ใช้ปีรวมมานับด้วยได้) ส่วนข้อกำหนดอื่น ๆก็ดูตามระเบียบได้เลย ซึ่งคนปกติก็น่าจะผ่านอยู่แล้ว เช่นไม่มีคดีความ ไม่ผิดวินัย มีหนังสือรับรองของผู้บังคับบัญชา เป็นต้น แต่มีอยู่อย่างนึงที่สำคัญคือ จะต้องมีภริยาเพราะจะต้องพามาสอบสัมภาษณ์ด้วย ดังนั้นคนโสดหมดสิทธินะ
→ เมื่อตรวจสอบตัวเองแล้วว่ามีคุณสมบัติเหมาะสม ก็ติดตามประกาศของ ขว.ทบ.ว่าจะเปิดรับสมัครเมื่อใด ปกติก็ราว ๆต้นเดือนพฤษภาคม ถึงมิถุนายน และเริ่มสอบในเดือน กรกฎาคม ถึง สิงหาคม ดังนั้นให้คอยติดตาม เมื่อมีประกาศออกมาก็รีบไปติดต่อขอรับแบบฟอร์มใบสมัครที่ กองการทูต ได้เลยซึ่งมีเอกสารพร้อมรูปถ่ายจำนวนเยอะมากที่จะต้องทำการกรอก และมีเอกสารที่ต้องนำเสนอผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้นด้วย แนะนำให้รีบไปขอไฟล์มาทำแต่เนิ่น ๆ ข้อดีของการสอบครั้งแรกไม่สำเร็จก็คือ จะทำให้การสอบรอบสอง หรือรอบสามเราจะมีไฟล์เดิมที่เคยกรอกไว้แล้ว แค่นำมาอัพเดทนิดหน่อยให้ทันสมัย ก็พร้อมส่งได้เลย สะดวกมาก (แต่เอาจริงนะ สอบให้ได้ในครั้งแรกไปเลยจะดีกว่า 🤭)
การ สอบ รอบแรก ภาษาอังกฤษ
การสอบมี 3 รอบ ในรอบแรกคือการสอบภาษาอังกฤษ และภาษาท้องถิ่นของประเทศที่เลือกไว้ ถ้าไม่อยากสอบภาษาท้องถิ่น ก็ให้เลือกประเทศที่ใช้แต่ภาษาอังกฤษเป็นภาษาราชการ เช่น สหรัฐ อังกฤษ สิงคโปร์ ออสเตรเลีย แต่ถ้าเลือกสอบปากีสถาน ถึงจะใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาราชการ แต่ท่านอาจต้องสอบภาษาอูรดูอีกด้วย (หรือป่าว ไม่แน่ใจ ลองไปถามท่าน ผชท.ปากีฯ กันดู🕌) รอบนี้ถ้าสอบภาษาอังกฤษไม่ผ่านเกณฑ์ 70% นี่ตก กลับบ้านก่อนเลยนะ ส่วนภาษาท้องถิ่นถึงสอบตกก็ยังได้ไปต่อ เพราะใช้ประกอบการพิจารณาในรอบหลัง ๆ แต่เอาจริงภาษาท้องถิ่นนี่ เรียกได้ว่าเป็นตัวเฉือนกันเลย เพราะปกติภาษาอังกฤษ ถ้าคนมันทำได้ มันก็จะได้คะแนนพอๆกันไม่ห่างกันมาก ส่วนภาษาท้องถิ่นนี่ชัดเลย ดังนั้นพวกอดีตนักเรียนต่างประเทศ หรือผู้ที่เคยไปทำหน้าที่รอง ผชท. ก็มักจะได้เปรียบ (แค่ได้เปรียบนะ ไม่ได้หมายความว่าจะทำให้สอบได้เสมอไป)
ภาษาอังกฤษ มี 400 คะแนน สอบ 4 ทักษะ ฟัง,พูด,แปล, เขียน เกณฑ์ผ่าน 70% ก็จริงแต่ขอทำให้ได้มากที่สุด บางปีผ่านกันหมด บางปีผ่านคนเดียว ก็แล้วแต่ว่า อาจารย์กองภาษา ยศ.ทบ.จะเอาข้อสอบยากหรือง่ายมาให้ทำ จับทางคร่าวๆก็คือยากง่าย สลับกัน เช่นปีก่อนข้อสอบยาก ตกกันเยอะ ปีนี้ก็เอาข้อสอบง่ายมาให้ทำ พอปีนี้ผ่านกันหมด ปีหน้าก็ปรับให้ยากขึ้น หาความลงตัวยังไม่ค่อยจะได้ (อันนี้แอบแซวอาจารย์สาว ๆของ ยศ.เล่นนะ)
การสอบรอบแรกปกติจะใช้เวลา 2 วันโดยในวันแรกเป็นการสอบภาษาอังกฤษก่อน และอีกวันจะเป็นการสอบภาษาท้องถิ่น สำหรับภาษาอังกฤษ ในช่วง 3-4 ปีหลังมานี้ได้ย้ายสนามสอบมาใช้สถานที่ของ JUSMAGTHAI ตรงถนนสาทร เป็นที่จัดการสอบภาษาอังกฤษแต่ก็ไม่ต้องตกอกตกใจไป เพราะการสอบที่นี่หรือสอบใน ยศ.ทบ. ก็ใช้ข้อสอบที่เตรียมมาจาก ยศ.ทบ. และ อจ.กองภาษา ยศ.จะเป็นผู้ตรวจให้คะแนนเหมือนเดิม ระยะเวลาที่สอบใช้เวลาไม่นาน ปกติมักจะเสร็จในช่วงเช้าทั้งการสอบข้อเขียนและสัมภาษณ์
🤓 เอาล่ะ..เรามาลงรายละเอียดในแต่ละพาร์ทกันดีกว่า
พาร์ทข้อเขียน
🇺🇸 พาร์ทข้อเขียน มีข้อสอบ 3 ชุดโดยเริ่มจาก ชุดแรกสอบ ALCPT ซึ่งเป็นข้อสอบที่ ยศ.ทบ.ใช้สอบสำหรับผู้ชิงทุนไปต่างประเทศ ถ้าไปอ่านในระเบียบล่าสุดเค้าจะเขียนว่าสอบ ECL ซึ่งถ้าใครเป็นสายสอบชิงทุน IMET บ่อยๆ จะทราบว่าการสอบ ECL ในปัจจุบันเป็นการสอบผ่านระบบออนไลน์ของ กห.สหรัฐ โดยจะทำการทดสอบผ่านเครื่องคอมพิวเตอร์ในห้องสอบของJUSMAGTHAI ซึ่งเป็นข้อสอบแบบ multiple choices จำนวน 20-30 ข้อปรับความยากตามความสามารถผู้สอบ ซึ่งไม่ใช่อันที่จะใช้สอบผู้ช่วยทูต แต่อันที่ใช้สอบก็คือ ข้อสอบ ALCPT ที่มี 100 ข้อ เป็นการฟังราว ๆ 66 ข้อ และ ที่เหลือเป็น gramma บวกกับ คำศัพท์ เหมือนที่ทุกคนใน ทบ. คุ้นเคยกันมาก่อนนั่นแหละ โดยจะนำข้อสอบ ชุดที่ไม่เคยใช้มาทำการสอบที่ใดมาก่อน มาให้ทำ (เช่นในปีที่ผู้เขียนสอบ ใช้ถึงชุดที่ 130 กว่าๆแล้ว ) เอาจริงนะ ข้อสอบพวกนี้ถ้าทำบ่อย ๆก็จะรู้ว่า มันมีรูปแบบ โครงสร้าง gramma คำศัพท์ ที่คล้ายคลึงกัน เทคนิคที่จะทำให้ได้คะแนนดีก็คือ ฝึกทำข้อสอบบ่อย ๆ แนะให้ลองทำแบบทีเดียวเลย 100 ข้อก่อน แล้วค่อยมาดูเฉลย ดูคะแนนตัวเอง ดูว่าผิดตรงไหน พอทำบ่อย ๆ ก็จะคุ้นเคย และจับทางได้เอง ในส่วนการฟัง เป็นการฟังเพียงครั้งเดียว บางข้อก็ง่าย บางข้อก็ยาก ดังนั้นต้องฟังให้เข้าใจทั้งประโยค อย่าใช้การฟังแบบจับ keyword เพราะคนออกแบบข้อสอบ หลายข้อมักจะหลอกด้วย keyword นี่แหละ ทำให้เสียคะแนนโดยไม่รู้ตัว
เอาจริงพาร์ทฟังนี่ไม่ยากนะ ถ้าฟังภาษาอังกฤษแล้วเข้าใจเลย แบบไม่ต้องแปลอังกฤษเป็นไทยในหัวก่อนถึงจะเข้าใจ ลองสังเกตตัวเองดูว่า เมื่อใดที่เรารู้สึกว่า ทำไมฟังไม่ทัน นั่นไม่ใช่เพราะเค้าพูดเร็ว แต่เป็นเพราะสมองเราแปลอังกฤษเป็นไทยในหัวไม่ทัน เมื่อเริ่มรู้สึกว่าการฟังภาษาอังกฤษนาน ๆ แล้วทำให้รู้สึกเหนื่อยล้า นั่นแสดงว่าเราฝึกการใช้ภาษามาแบบผิดวิธี เรากำลังใช้สมองอย่างหนักในการแปลอังกฤษเป็นไทย เพื่อให้สมองได้เข้าใจความหมาย ลองฝึกให้สมองสามารถเข้าใจภาษาอังกฤษได้โดยตรง ไม่ต้องแปลเป็นไทยก่อนจะดีกว่า เพราะสมัยที่เราเรียนภาษาไทย เราสามารถฟังภาษาไทยนาน ๆได้โดยไม่เหน็ดเหนื่อย นั่นก็เพราะเราไม่ต้องแปลไง
ส่วนตัวเห็นว่า พาร์ทที่ทำคะแนนหาย มักจะเป็นพาร์ทหลังนี่มากกว่า ข้อสอบฝั่งอเมริกันชอบออกข้อสอบ Phrasal Verbs นั่นคือคำศัพท์ ที่มันจะมาแบบแพค 2 คำคู่กัน ถ้าใช้ผิดความหมายก็เปลี่่ยน เช่น abide by, give in, get over แนว ๆนี้ ซึ่งมันจะคลับคล้ายคลับคลา กัน ตอนสอบเราจะแบบเหมือนจะรู้นะ แต่ก็ไม่แน่ใจ และส่วนใหญ่มักเลือกผิด 🤭 เทคนิคไม่มี ใช้การจำเอาอย่างเดียว ถ้าอ่าน ได้ฟัง หรือใช้มันบ่อย ๆ ก็จะจำได้เอง อีกอันที่ยากก็คือ ช่วง 4-5 ข้อท้ายมักจะเป็นศัพท์ที่ไม่คุ้นเคย อันนี้ก็วัดกันที่จำนวน คลังคำศัพท์ในหัว บวกกับโชคในการเดาแหละ รวม ๆแล้วการสอบที่วัดกันที่เกณฑ์ผ่าน 70 % ก็ถือว่าไม่สูงนะ แต่กระนั้นก็เห็นมีคนไม่ผ่านอยู่เหมือนกัน ตั้งเป้าพยายามทำให้ได้คะแนนสูง ๆเข้าไว้ เพราะนี่คือการสอบแข่งขัน ไม่ควรทำแค่พอผ่าน ถ้าช่วงเตรียมตัวอยากทำข้อสอบเยอะ ๆ แล้วไม่รู้ไปหาข้อสอบจากที่ไหน แนะนำให้ลองหาดูใน YouTube มีเยอะเลย มันจะมีแต่ชุดเก่า ๆ แต่แค่นั้นก็มีให้ทดลองทำจนเพลียแล้ว
📖 ข้อสอบการอ่าน ก็คือข้อสอบอ่าน comprehension แบบเป็นข้อความ ความยาวซัก 2-3 ย่อหน้า และมีคำถามให้ตอบ เป็น choices อีกประมาณ 3-4 ข้อจากเนื้อหาที่อ่าน ข้อสอบนี้ก็แล้วแต่ว่า อจ.กองภาษา ยศ. จะไปหยิบข้อสอบจากไหนมาให้ลองทำ สมัยปีผู้เขียนสอบ ได้ข้อสอบแบบโคตรง่าย จึงไม่ได้ใช้พวกบรรดาเทคนิค skim & scan ที่ต้องใช้ความไวในการอ่าน หรือการแปลโดยใช้ context clues เลย คำตอบก็มีในตัวเลือกแบบตรงไปตรงมา ดังนั้นข้อสอบแนวนี้ ถ้าไปหยิบตัวยากมาให้ทำ มันก็จะแบบ อ่านไม่ทันบ้าง แปลไม่ออกบ้าง ส่วนข้อสอบง่ายก็มีข้อเสียคือ คนอื่นก็จะทำได้คะแนนเต็มเหมือนกัน ดังนั้นหากเราเผลอกาผิดไปซักข้อนี่ ลำดับตกวูบได้เลยระวังให้ดี ต่อไปคือ ข้อสอบการแปล มักจะนำข่าวจากหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษ มาใช้ทดสอบแปลเป็นภาษาไทยบ้าง หรือบางปีก็อาจนำหนังสือราชการมาให้แปล การแปลก็ต้องเลือกใช้คำให้สละสลวย ไม่ได้แปลคำต่อคำ ที่พออ่านเป็นภาษาไทยแล้วฟังดูทะแม่ง ๆ คำบางคำรู้ความหมาย แต่นึกภาษาไทยไม่ออกก็มี (เช่น ตอนที่ผู้เขียนสอบเจอคำว่า birateral ก็ต้องแปลว่า ทวิภาคี) ควรเลือกใช้คำภาษาไทยที่สละสลวยถ้าจำได้ ในส่วนของความยากง่ายข้อสอบ ก็ต้องมาเดาใจ อจ.ยศ.กันแต่ละปีแล้วล่ะ ปกติก็คงไม่เลือกข้อสอบแบบยากมาก ๆ มาสอบหรอกมั้ง ทั้งนี้ก็ไม่ควรประมาทไม่ว่าจะยากหรือง่าย เพราะนี่คือการสอบแข่งขัน
พาร์ทสัมภาษณ์
🎤 พาร์ทสอบสัมภาษณ์ ก็จะใช้ฝรั่ง (ถ้าสอบที่ JUSMAG ก็ทหารอเมริกันในนั้นแหละ) มาเป็นคนสัมภาษณ์ จะแบ่งเป็นกลุ่ม ๆ ใครสอบประเทศไหน ก็จะได้เจอคนสัมภาษณ์คนเดียวกัน ถ้าเจอฝรั่งใจดีพูดช้า ๆชัดๆ ก็ตื่นเต้นน้อยหน่อย แต่เอาจริง เค้าจะดูเราพูดมากกว่า ไม่ค่อยพูดกับเราหรอก คำถามจะมี 4 คำถาม คือ ให้แนะนำตัว, คำถามเรื่องทั่วไป และคำถามเรื่องที่ต้องแสดงความเห็น สุดท้ายจะเป็นการพูดคุยแบบจำลองเหตุการณ์ Role play เทคนิคจะทำให้ได้คะแนนดี ๆ ลองนำเทคนิคการสอบ IELTS ในพาร์ท speaking มาใช้ (หรือใครเคยสอบของออสเตรเลียก็ใช้เกณฑ์การให้คะแนนแบบ ADFELPS ในพาร์ท speaking ) แต่เอาจริงก็ไม่ได้ซีเรียสขนาด IELTS หรือ ADFELPS เพราะคนให้คะแนนก็อยู่ที่ทหารอเมริกัน (แต่มีอาจารย์ ยศ. นั่งฟังอยู่ด้วยไม่รู้ให้คะแนนด้วยป่าวนะ)
ในส่วนที่เตรียมได้ เช่นแนะนำตัวก็เตรียมไปจากบ้านได้เลย ยาวซัก 1 นาทีก็พอ พูดไปให้คล่อง ไม่ติดขัด ส่วนคำถามที่เกี่ยวกับเรื่องทั่วไปส่วนใหญ่ก็เค้าก็จะถามเรื่องเกี่ยวกับเรา เรื่องงาน เรื่องครอบครัว การตอบพยายามอย่าให้ติดขัด บางทีไม่จำเป็นต้องตอบตรงก็ได้ เช่นเค้าถามว่าลูกเรียนชั้นอะไร ถ้าลูกเราเรียนอนุบาล แต่นึกคำศัพท์ไม่ออกว่าอนุบาลคืออะไร แต่จำคำว่า university ได้ก็บอกไปด้วยความมั่นใจเลยลูกเรียนมหาลัย 🤩 เป็นต้น ตอนผู้เขียนสอบ ถูกถามว่า ให้เล่าถึงความประทับใจกับเพื่อนสนิท ใครก็ได้ ถ้าเอาจริงก็นึกไม่ออกตอนนั้้น ก็เลยเล่ามิตรภาพของเพื่อนจากหนังสงครามที่เพิ่งดูจาก Netflix วันก่อนไปเฉยเลย และก็เจอคำถามว่า ให้บอกข้อดีข้อเสียของการใช้ สื่อสังคมออนไลน์ ส่วน role play ก็ให้เราเป็นนักท่องเที่ยวจะเดินทางจาก DC ไปธุระ NY แต่สายการบินยกเลิก ให้เราโทรติดต่อโอเปอเรเตอร์ ก็เล่นเหมือนโทรศัพท์คุยกัน ปีก่อนก็เคยโดนให้เล่นบทเป็น ผชท. ไปติดต่อที่ pentagon ว่า ผบ.ทบ.จะมาตรวจเยี่ยม ก็มีนะ 🤵🏻 การสอบก็จะออกแนวประมาณนี้แหละ แนะนำให้พูดด้วยความมั่นใจ อย่าหยุดคิด ขาดช่วง ไม่จำเป็นต้องศัพท์ยากหรือ gramma เป๊ะมากก็ได้ นึกศัพท์ไม่ออกก็ใช้ศัพท์ที่ง่ายกว่าอธิบาย
การสอบภาษาถิ่น
🏛️ การสอบภาษาท้องถิ่น เฉพาะประเทศที่ต้องใช้ภาษาที่ 3 การสอบใช้อาจารย์จากมหาวิทยาลัย หรือสถาบันภาษานั้น ๆเป็นคนออกข้อสอบ ข้อสอบมี 2 พาร์ท คือการสอบข้อเขียนและสอบสัมภาษณ์ การข้อสอบข้อเขียน เป็นการแปลประโยค จากภาษานั้น เป็นภาษาไทย มีอยู่ประมาณ 15 – 20 ข้อได้ เป็นข้อเขียน ในข้อแรก ๆ ก็จะมาเป็นประโยคสั้น ๆ ไปจนถึง เป็นย่อหน้า 3-4 บรรทัดในข้อท้าย ๆ คือถ้าไม่ได้เรียนมาก่อนระดับนึง แค่ศึกษาเอง หรือแค่ฝึกจาก youtube แล้วมาสอบนี่หมดสิทธิ์เลย ยากจริงไรจริง สุดจะเดาแบบส่งกระดาษเปล่าได้เลย ในส่วนนี้พวกนักเรียนเก่าประเทศนั้น ๆ หรือคนทำงานในประเทศที่ใช้ภาษาดังกล่าวมาก่อนได้เปรียบมาก
จากนั้นประมาณไม่เกิน 2 อาทิตย์ก็จะประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิสอบรอบสอง โดยไม่บอกคะแนนที่ได้ ที่ผ่านมาบางปีก็ผ่านกันหมด บางปีก็ตกรอบนี้กันหลายคน ผู้ที่ไม่ผ่านจะนับเฉพาะภาษาอังกฤษต่ำกว่าเกณฑ์ที่กำหนดเท่านั้น ส่วนภาษาถิ่น ส่งกระดาษเปล่าก็ไม่มีผลในรอบนี้ (แต่น่าจะมีผลในรอบหลัง ๆประกอบการพิจารณาของคณะกรรมการ 😞 )
การสอบรอบที่ 2 โดย กรมข่าวทหารบก
📰 ในรอบที่สอง ปกติจะไปสอบกันที่ห้องประชุม ขว.ทบ.1 ชั้น 4 ภายในกองบัญชาการกองทัพบก รอบนี้จะคัดเหลือ 3 คน เพื่อเข้าสู่รอบสุดท้าย ดังนั้นถ้าประเทศที่ท่านเลือก เหลือผู้สมัครผ่านมาถึงรอบนี้ไม่เกิน 3 คน ทุกคนก็จะได้เข้าไปรอบตัดสินกันได้หมด แต่ถ้ามีมากกว่า 3 คนแสดงว่า จะต้องมีคนกลับบ้านไปก่อนในรอบนี้แน่นอน 🤦🏻♂️ ส่วนคะแนนที่ได้ก็จะนำไปประกอบการพิจารณาของคณะกรรมการในรอบตัดสินอีกด้วย ดังนั้นก็ควรทำคะแนนในรอบนี้ให้ได้ดีๆไว้ก่อน เอาจริงรอบนี้ข้อสอบไม่ยากนัก เพราะถ้ามีประสบการณ์ทำงานมาถึงระดับนึงแล้ว ก็สามารถนำความรู้ที่มี มาตอบได้สบาย ๆ เพราะส่วนใหญ่เป็นคำถามปลายเปิด เป็นลักษณะแสดงความเห็น ประกอบข้อเท็จจริง ข้อพิจารณาต่าง ๆ
การสอบมี 2 พาร์ทคือ การสอบวัดความรู้ด้วยข้อสอบเขียน และการสอบสัมภาษณ์ที่ต้องนำภริยามารับการสอบด้วย เราลองมาไล่ดูกันทีละอย่างว่าเป็นยังไงบ้าง
พาร์ทวัดความรู้ด้วยข้อสอบเขียน
📜 ข้อสอบจะมีคำถามมาให้ ประมาณ 5 – 6 ข้อ และให้กระดาษ A4 เปล่า ๆมาปึกนึง (ประมาณ 10 แผ่น) สามารถขอเพิ่มได้ ให้เขียนเวลา 3 ชั่วโมง จงใช้เวลาให้เต็มที่ เขียนให้ได้มาก ๆ ควรจะเขียนให้อ่านง่าย มีโครงสร้างการตอบชัดเจน แบ่งเป็นหัวข้อย่อย ๆ มีการวิเคราะห์ ข้อเท็จจริง ข้อพิจารณา ข้อเสนอ และควรเขียนให้อ่านง่าย ถ้ามีปากกาสี ปากกาไฮไลท์ ไม้บรรทัด ยางลบ เอามาใช้ให้หมด ส่วนตัวผู้เขียนชอบใช้ดินสอมากกว่า แต่ใช้ปากกาสีช่วยแบ่งหัวข้อ ระบายสีตอนหลัง เพื่อให้อ่านง่าย ไม่สกปรก อันนี้แล้วแต่เทคนิคของแต่ละคนเลย
📃 แนวข้อสอบ ก็จะมีในส่วนของนโยบายของกองทัพบก เน้น ๆในด้านการข่าว หรือการทูตทหาร ควรจำไว้เขียนได้เลย สามารถหาดูได้จากนโยบาย ผบ.ทบ. เล่มสีแดง หรือมีปรากฎในข้อสั่งการประชุม นขต.ทบ. หรืออาจมีจะเรื่องอื่น ๆ ที่ในปีนั้นให้ความสำคัญ เช่น ตอนผู้เขียนสอบก็จะมีเรื่องเกี่ยวกับโควิด ซึ่งจะรวม ๆอยู่ในเรื่องของนโยบายด้านความมั่นคงของไทยด้วย ลองเดาทางกรรมการดูว่าปีที่สอบมีเหตุการณ์ใดที่สำคัญ น่าเอามาถาม
📊 นอกจากนั้นก็จะมีเรื่องของสถานการณ์ต่างประเทศที่สำคัญ โดยเฉพาะประเทศ หรือภูมิภาคที่อยู่ในกลุ่มประเทศที่ท่านจะไปสอบ นโยบายการต่างประเทศของประเทศที่จะไปประจำการ ข้อมูลพื้นฐานทางการทหาร ความขัดแย้งในภูมิภาคต่าง ๆของโลก อาทิ รัสเซีย-ยูเครน-นาโต้, สหรัฐ-จีน, ทะเลจีนใต้, จีน-ไต้หวัน, เกาหลีเหนือ-ใต้ กลุ่มก่อการร้าย การรวมกลุ่มของพันธมิตรชาติต่าง ๆ เช่น BRICS, AUKUS, Indo-Pacific ฯลฯ ลองเก็ง ๆกันดู
🧾 นอกจากนั้น ก็อาจจะมีข้อสอบเกี่ยวกับงานในหน้าที่ทูตทหาร คุณลักษณะ หรือพวกพิธีการ มารยาททางการทูต อันนี้มีเขียนไว้ในระเบียบว่าจะสอบนะ แต่ผู้เขียนสอบมา 3 รอบยังไม่เคยเจอข้อสอบแนวนี้ อาจจะมีในรอบที่ท่านกำลังจะสอบก็ได้ ควรศึกษาไว้ด้วยจะดี ถีงไม่เจอรอบข้อเขียน ก็อาจไปเจอรอบสอบสัมภาษณ์ได้เหมือนกัน
พาร์ท สอบ สัมภาษณ์รอบ กรมข่าว
พาร์ทนี้ของฝ่ายชายไม่ยากเพราะตอบคำถามเป็นภาษาไทย แต่อาจจะไปเยอะที่ฝ่ายหญิงเพราะจะเจอหลายคำถามและต้องตอบเป็นภาษาอังกฤษ ในกรณีที่มีหลายคู่เข้ามาถึงรอบนี้ ก็จะแบ่งเป็นการสอบเป็นรอบเช้า-บ่าย ปกติจะใช้เวลาสอบคู่ละประมาณ 15-20 นาที แต่ต้องรอนานมากกว่าจะได้สอบ ถ้าหากไม่ได้เข้าไปเป็นคู่แรก ๆ ซึ่งมีผลทำให้ นักสอบมือใหม่โดยเฉพาะฝ่ายหญิงประหม่าได้
การแต่งกาย
🤵🏻 เริ่มที่การแต่งกาย ฝ่ายชายจะให้แต่งสูทสากล แนะนำให้ใช้สูทสีเข้ม จะสีดำ สีกรม หรือสีเทาก็ได้ ไม่ควรใช้สูทสีอ่อน หรือสีเสื้อกับกางเกงไม่เหมือนกัน เสื้อเชิ้ตสีอ่อน แนะนำสีขาวเซฟสุด เนคไท ส่วนใหญนิยมสีเหลืองเพราะห้วงการสอบมักอยู่ในช่วงเดือน กรกฎาคม ใกล้กับวันเฉลิมพระชนมพรรษา ไม่แน่ใจว่ามีอะไรผลรึมั้ย แต่เห็นคนสอบที่ผ่าน ๆมานิยมกัน ส่วนรองเท้าให้ใช้คัทชูผูกเชือก ไม่แนะนำฮาลฟ์เครื่องแบบ การตัดผม โกนหนวด ตัดเล็บ ทำบุคคลิกให้ดี อันนี้เรื่องปกติของการสอบสัมภาษณ์ทั่วไป
💃🏻 การแต่งกายฝ่ายหญิง แนะนำชุดผ้าไทย ชุดไหมสั้นจะดี กระโปรงคลุมเข่า เพราะการสัมภาษณ์ใช้การนั่งเก้าอี้ ถ้ากระโปรงสั้นกว่าเข่าจะนั่งลำบาก สีชุดไม่น่าจะต้องสีเหมือนกันก็ได้มั้ง อันนี้ไม่แน่ใจ ส่วนการแต่งหน้า ทำผมจำเป็น ถ้าทำเองไม่สวย ก็ควรไปทำที่ร้านก่อนมาสอบ ถ้าผมยาวต้องเกล้าเก็บให้เรียบร้อย ฝึกท่ายืน ท่าเดิน ท่านั่ง ท่าไหว้ ท่าถอนสายบัว ไว้หน่อยก็ดี เผื่อ ๆไว้
ห้องสอบ จะใช้ห้องรับแขกของ ขว.ทบ.ที่ติดกับห้องประชุม ขว.ทบ.1 เป็นสถานที่สอบ เมื่อใกล้ถึงคิว จะให้มานั่งรอหน้าห้องสอบ และบันทึกภาพคู่ (คาดว่าเอาไว้ให้คะแนนการแต่งกาย) ด้านในมีกรรมการ 8 – 10 ท่าน ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาของกรมข่าว ทบ. ทั้งหมด มีท่านเจ้ากรมข่าวทหารบก เป็นประธาน โดยจะนั่งเหมือนล้อมวง และมีเก้าอี้ 2 ตัวตั้งไว้ตรงกลาง ให้ผู้รับการสอบ ผู้ชายนั่งขวา ผู้หญิงนั่งซ้าย จะมีคำรายงานตัวให้ท่องสั้น ๆ ก่อนเข้านั่งประจำที่
คำถามของฝ่ายชาย
🧔🏻♂️ ฝ่ายชาย จะตอบคำถามก่อน 1 คำถามเป็นภาษาไทย เวลาประมาณ 3 นาทีอาจจะเจอคำถามแนววิเคราะห์ แสดงความเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์โลก หรือภูมิภาค หรือในกลุ่มประเทศที่เราเลือก พยายามตอบให้ครบเวลาที่กำหนด ไม่สั้นหรือ ยาวเกินไป จะมีกระดิ่งเตือนเมื่อเหลืออีก 1 นาที แนวทางที่ผู้เขียนใช้คือ ถ้าเป็นคำถามเชิงวิเคราะห์ จะแบ่งคำตอบเป็นสามช่วง ช่วงเกริ่นนำ ประมาณ ครึ่งนาที ช่วงตอบให้ตรงคำถาม 1 นาทีครึ่ง ถ้าแบ่งคำตอบออกเป็นข้อ ๆ พร้อมเหตุผลประกอบก็จะดี พอได้ยินเสียงกระดิ่ง ถ้ายังไม่จบ ต้องรีบจบ และเข้าสู่ช่วง 3 คือสรุปจากที่พูดมาอีกครั้งแบบสั้น ๆ เพื่อย้ำคำตอบ เทคนิคนี้เป็นเพียงแนวทางหนึ่ง ซึ่งดีกว่านึกอะไรก็พูดไป วกไปวนมา ดังนั้นหากใครมีเทคนิคอื่น ก็ช่วยมาแชร์กันในช่องคอมเม้นต์ด้านล่าง ด้วยนะครับ
คำถามของฝ่ายหญิง
👩🏻 ฝ่ายหญิง จะได้รับคำถามเป็นภาษาอังกฤษ คำถามแรกก็ให้แนะนำตัวเป็นภาษาอังกฤษ ประมาณ 1 นาที อันนี้สามารถเตรียมท่องมาจากบ้านได้เลย พยายามฝึกควบคุมความประหม่า เพราะฝ่ายหญิงบางท่านอาจไม่คุ้นเคยกับการพูดต่อหน้า นายทหารผู้ใหญ่ในเครื่องแบบ ที่มานั่งล้อมวง ในบรรยากาศค่อนข้างกดดัน ถึงแม้ว่ากรรมการ จะพยายามช่วยพูดคุยให้ผ่อนคลายบ้างแล้วก็ตาม ส่วนคำถามที่สอง จะเป็นคำถามทั่วไป อันนี้เดาทางค่อนข้างยาก จากที่เคยเจอ ก็จะมีถามประมาณว่า ถ้ามีเพื่อนมาจากต่างประเทศ ให้แนะนำสถานที่ท่องเที่ยวในประเทศไทย หรืออีกอันก็ จะมีส่วนช่วยสามีในการปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งผู้ช่วยทูตอย่างไร เผยแพร่วัฒนธรรมไทยอย่างไร หรือเมื่อช่วงโควิดที่ผ่านมา ก็ถูกถามเกี่ยวกับการบริหารจัดการโควิดของรัฐบาล และ เรื่องเกี่ยวกับ soft power (ช่วงที่สอบ คำนี้กำลังฮิต) แต่ถามว่าอะไร ลืมไปแล้ว คำถามที่เคยเจอก็แนว ๆนี้ แต่คิดว่าคงไม่นำมาถามซ้ำอีก
‼️ รอบนี้จะมีการคัดคนออกจนเหลือ ประเทศละไม่เกิน 3 คู่ เพื่อเข้าสู่รอบสุดท้าย ‼️
การสอบรอบตัดสิน
📸 รอบนี้จะมีเฉพาะการสอบสัมภาษณ์เท่านั้น โดยประธานกรรมการสอบ คือเสนาธิการทหารบก และมีรองเสนาธิการทหารบกอีก 5 ท่าน และ ปลัดบัญชี ทบ. เป็นกรรมการ ในกรณีที่มีการสอบ ผชท.ประเทศเพื่อนบ้าน ก็จะมี กรรมการระดับ รองแม่ทัพภาค และรอง ผบ.นศส.มาร่วมเป็นกรรมการด้วย โดยใช้ห้องรับรองชั้น 5 ห้องที่ติดกับห้องประชุม ศปก.ทบ. เป็นห้องสอบ การจัดที่นั่งจะคล้ายกับการสอบสัมภาษณ์รอบกรมข่าว ต่างนิดหน่อยตรงที่ การแต่งกายฝ่ายชายใช้เครื่องแบบปกติ คอพับแขนยาว ส่วนฝ่ายหญิงก็ชุดแบบที่ใช้สอบสัมภาษณ์รอบกรมข่าวนั่นแหละ
คำถามมีคนละ 1 คำถาม ฝ่ายชายให้ตอบภาษาไทย ส่วนฝ่ายหญิงใช้ภาษาอังกฤษ แนวก็จะคล้าย ๆกับรอบกรมข่าว แต่ความรู้สึกส่วนตัว คิดไปเองว่ารอบนี้ คำถามมีความยาก และต้องวิเคราะห์ลึกกว่า ดังนั้นการอธิบายให้ผู้บังคับบัญชาชั้นสูงเข้าใจ ต้องพยายามพูดช้า ๆ แบ่งคำตอบออกเป็นข้อ ๆ ไม่ต้องพรรณามาก เน้นชัดเจน ตอบตรงคำถาม รอบนี้จะให้เวลาน้อยกว่ารอบที่ผ่านมา (แต่ก็ไม่แน่นะ แล้วแต่กรรมการแต่ละปีจะเห็นสมควร) ส่วนตัวมีความเชื่อว่า การพูดกับคนที่เป็น ผู้บังคับบัญชา กับ ฝ่ายเสนาธิการ จะใช้คนละแนวกัน เช่น การพูดกับ ฝ่ายเสนาธิการ จะอ้างอิงหลักนิยม หลักการ ข้อเท็จจริง ประกอบการพิจารณา ส่วน ผู้บังคับบัญชา ท่านต้องการ solution และหนทางปฏิบัติดีที่สุด ดังนั้นลองปรับให้เข้ากับสไตล์ของตัวเองก็แล้วกัน (ว่าแต่ เสนาธิการทหารบก ท่านเป็น ฝ่ายเสธ หรือ ผู้บังคับบัญชา กันล่ะ 😵)
หลังจากจบคนละ 1 คำถาม อาจจะมีคำถามพิเศษจากกรรมการแต่ละท่าน(ให้ตอบเป็นภาษาไทยปกติ ส่วนใหญ่จะเป็นคำถามของฝ่ายหญิง) เพื่อดูบุคคลิก หรือท่านอาจจะดูความพร้อมของฝ่ายหญิงว่า จะสามารถลางานไปทำหน้าที่ 3 ปีด้วยได้หรือไม่ โดยถามจากประวัติ การทำงาน เรื่องลูก การตอบพยายามทำให้กรรมการมั่นใจว่า เรามีความพร้อม ไม่มีปัญหาใด ๆ มีความเป็นธรรมชาติ บางทีอาจมีให้ร้องรำทำเพลงด้วยก็เคยมี ส่วนฝ่ายชายอาจช่วยตอบหรือแก้ไขสถานการณ์บ้างหาก ฝ่ายหญิงติดขัด หรือประหม่าจนอาจไม่ราบรื่น
😇 จากนั้นประมาณ 2-3 สัปดาห์ ก็น่าจะประกาศผลให้ทราบ คาดว่าราว ๆ ปลายเดือนสิงหาคมเป็นอย่างช้าเห็นจะได้
ถ้าไม่มีชื่อเรา ก็อย่าไปเสียใจ โทษตัวเอง หรือโทษภริยา แต่ให้ไปโทษคู่แข่งแทน 🤭 เพราะมันดันเหมาะสมกว่าเราในปีนั้น หวังว่าปีหน้าอาจเป็นเราบ้างก็ได้ เพราะการสอบครั้งที่สอง หรือสาม จะทำให้รู้สึกว่าง่ายขึ้น เป็นธรรมชาติมากขึ้น เพราะว่าเราและภริยาพร้อมกว่าเดิมและมีประสบการณ์แล้วนั่นเอง
ส่งท้าย ก่อนจบ
⚠️ ทั้งหมดทั้งมวล ก็คือการรวบรวมข้อมูลจากประสบการณ์ส่วนตัวเพียงเท่านั้น ข้อมูลนี้ไม่ถือว่าเป็น official นะเพราะผู้เขียน ไม่ได้เป็นผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการสอบแต่อย่างใด หากมีคำถามหรือข้อสงสัย เห็นควรให้ไปสอบถามและขอคำยืนยันจากกองการทูต กรมข่าวทหารบก ผู้รับผิดชอบโดยตรงจะได้คำตอบที่ชัดเจนที่สุด ซึ่งปกติการสอบก็มักจะมีการเปลี่ยนแปลง ไปตามนโยบายของผู้บังคับบัญชาในปีนั้น ๆตลอดเวลา แต่ก็เปลี่ยนไม่ไปจากนี้เยอะนักหรอก
🟢 อยากเชิญชวนให้พี่ ๆ เพื่อน ๆ หรือน้อง ๆมาลองสอบกันดู การเตรียมตัวถ้าตามที่เล่าให้ฟังข้างต้น เชื่อว่าไม่ยากเกินความสามารถของทุกคน เราไม่สามารถคาดการณ์อนาคตได้ว่า วันข้างหน้าตำแหน่งนี้อาจจะเกิดการเปลี่ยนแปลง เช่น ไม่เปิดให้สอบ แต่ถูกกำหนดลงมากจากผู้บังคับบัญชา หรือนักการเมืองเลยก็เป็นได้ ดังนั้น ณ วันที่มีโอกาส และมีความพร้อม ก็ควรมาลองดูไม่เสียหาย งานของผู้ช่วยทูตทหารบก ไม่ว่าประเทศใดล้วนมีความสำคัญ และมีสีสรรน่าสนใจ ไว้หากมีโอกาสจะมาเล่าถึงการเตรียมการ หรือประสบการณ์ทำงานให้ฟัง ถ้ามีคนสนใจอยากจะอ่านนะ ลองคอมเม้นต์กันไว้ดู
🟣 ท้ายสุด ถ้าท่านอ่านแล้วเห็นว่าเป็นประโยชน์ ก็สามารถแบ่งปันหรือ แชร์ให้กับเพื่อน พี่น้องที่ท่านรู้จักเผื่อจะไปจุดไฟความหวังให้กับใครซักคน ส่วนตัวผู้เขียนจะดีใจมาก ถ้าบทความนี้มีส่วนช่วยให้ใครสักคน ได้เป็นผู้ช่วยทูตทหารบกจริง ๆ ถ้าท่านอ่านแล้ว มีคำแนะนำ ต้องการแก้ไขความถูกต้อง หรืออยากให้ข้อมูลอื่น ๆเพิ่มเติม ก็สามารถเขียนลงในช่องคอมเม้นต์ด้านล่างได้เลย
Leave a Reply